วัดพระธาตุภูปอ
พระธาตุภูปอ ถือเป็นพระธาตุคู่บ้าน คู่เมืองของอำเภอเชียงม่วน ตามตำนานกล่าวไว้ว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าได้เดินทางมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เขาลูกนี้ ชาวบ้านต่างนำเครื่องอุปโภคไปถวาย และสิ่งที่มีมากเป็นพิเศษคือใบพลูได้นำมาถวายจนกองเป็นภูเขาพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสห้ามว่า “พลูพอแล้วนะ” หรือภาษาคำเมืองว่า “ปูปอแล้ว” ดังนั้นพระธาตุนี้ จึงมีชื่อว่า “พระธาตุภูปอ”
เป็นประติมากรรมทางพุทธศาสนา หลากหลายรูปแบบทั้งพระพุทธรูป เทพพนม รูปปั้นเกจิภาคเหนือและเรื่องราวทางพุทธประวัติ จำนวนมาก ถูกนำมาติดตั้งและประดับประดาบริเวณโดยรอบพระธาตุภูปอ บนยอดเขาในพื้นที่หมู่ที่ 7 ต.บ้านมางอ.เชียงม่วน จ.พะเยา ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่พบเห็นและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเที่ยวชมความสวยงามของพระธาตุภูปอ พระธาตุเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 1 พันปี ซึ่งเป็นพระธาตุประจำอำเภอเชียงม่วน ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาสูง และสามารถมองเห็นทิวทัศน์อำเภอเชียงม่วนได้ทั้งเมืองนอกจากนั้นยังเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่คนในพื้นที่และต่างจังหวัดให้ความเคารพนับถือสักการบูชาอย่างต่อเนื่อง
พระธาตุภูปอ
พระธาตุภูปอแต่เดิมนั้นเรียกบริเวณนี้ว่า "ม่อนกองหิน" ชาวบ้านตำบลเชียงม่วน อำเภอปง(ปัจจุบันเขตอำเภอเชียงม่วน) ในสมัยนั้นมักจะเคยได้เห็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง กล่าวคือ จะพบเห็นลูกแกัวหลากสี มีแสงสว่างงดงามยิ่งปรากฎลอยขึ้น ๆ ลง ๆ ตรงบริเวณยอดดอยม่อนกองหิน โดยที่เหตุการณ์ดังกล่าว จะเกิดขึ้นเป็นประจำในวันขึ้น 8 ค่ำ ขึ้น15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ แรม 15 ค่ำ จึงเป็นเหตุดลใจให้นายปั๋น เร่งเร็ว (ขุนประธานเชียงเขต) กำนันในสมัยนั้นมีความคิดสร้างองค์พระธาตุขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานของลูกแก้วที่เชื่อว่าเป็นพระบรมสาริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้ชาวเชียงม่วนได้ใช้เป็นสถานที่สักการบูชา จึงได้เริ่มก่อสร้างองค์พระธาตุที่มีฐานกว้าง ประมาณ 5 เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอดฉัตร ประมาณ 8 เมตร ขึ้นในปี พ.ศ.2474 และได้กีอสร้างศาลาสำหรับไว้ปฏิบัติศาสนพิธีขึ้นบริเวณทิศใต้ของพระธาตุ(ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมและได้ถูกรื้อไปแล้ว) และได้เรียกชื่อพระธาตุแห่งนี้ว่า "พระธาตุภูปอ" ตามตำนานเล่าว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมายังที่แห่งนี้และเมื่อชาวบ้านได้พบเห็นได้นำเอาใบพลูมาถวายเป็นจำนวนมาก จนพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ปูปอ (ใบพลู ภาษาเหนือเรียกว่าใบปู)
หลังจากที่ได้ก่อสร้างองค์พระธาตุสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ขุนประธานเชียงเขตได้เชิญชวนคณะศรัทธาวัดศรีเมืองมางในสมัยนั้น ประกอบด้วย บ้านมาง บ้านแพทย์ บ้านปงสนุก บ้านหนองหมู และบ้านป่าแขม ขึ้นไปประกอบพิธีนมัสการและบวงสรวงพระธาตุเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยกำหนดเอาวันเพ็ญเดือนแปด (เหนือ) หรือเรียกว่า"แปดเป็ง" ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา (วันเพ็ญเดือนหก)ของทุกปี เป็นประเพณีสืบทอดกันมาจวบจนทุกวันนี้
จากจุดที่พระธาตุตั้งอยู่บนยอดเขา สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ 360 องศา มองเห็นชุมชนของอำเภอเชียงม่วนเป็นอย่างดี หากใครมาที่นี่ ทางวัดมีที่พักให้หากท่านต้องการที่จะพักที่นี่ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงแค่อาจจะแค่ช่วยบริจาคค่าน้ำค่าไฟคืนให้ทางวัดบ้างก็แล้วแต่จิตศรัทธา
สถิติผู้เข้าชม Website |
|
วันนี้ | 12 คน |
เมื่อวานนี้ | 3 คน |
เดือนนี้ | 69 คน |
เดือนที่แล้ว | 71 คน |
ปีนี้ | 1,421 คน |
ปีที่แล้ว | 3,317 คน |